วัดแม่พระองค์อุปถัมภ์ อ.พนม จ.สุราษฎร์ธานี
เจ้าอาวาสวัด : คุณพ่อเทรื่ ตาไปย์
75 หมู่ 3 ตำบลคลองชะอุ่น อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี 84250
ตารางมิสซา
วันอาทิตย์ เวลา 07:00 น. และที่อารามชีลับ เวลา 09:00 น.
ประวัติ, ข้อมูลสถานที่
ชุมชนทับคริสต์ ตั้งรกรากเมื่อปี ค.ศ. 1973 (พ.ศ. 2516) เป็นชุมชนที่เข้มแข็งในศรัทธาความเชื่อ แต่หลังจากนั้นไม่นานลูกหลานของพวกเขาก็พากันย้ายออกเพื่อหางานทำ และจำนวนมากไม่ได้กลับมาอีกเลย ทิ้งทุกอย่างไว้เป็นเพียงความทรงจำ แต่ด้วยพลังความศรัทธาอย่างมั่นคงของผู้นำชุมชนสามารถรวมจิตใจของลูกหลานกลับมาฟื้นชุมชนได้อีกครั้ง ชุมชนบ้านทับคริสต์ในวันนี้เกือบทุกคนในชุมชนหลายพันคนเป็นชาวคาทอลิกที่หวงแหนลูกหลานของพวกเขาและคอยบ่มเพาะความรักที่มีต่อกัน หากลูกหลานต้องจากชุมชนไปไกลพวกเขาจะจดจำได้ว่า “พวกเขามีบ้านให้กลับมาได้เสมอ”
ร่วมถวายผ่านกิจการของคณะซิสเตอร์
ธนาคารกสิกรไทย สาขาบ้านตาขุน เลขที่ 411-2-04018-3 ชื่อบัญชี อารามแม่พระแห่งปวงเทวา
ประวัติศาสตร์ 50ปี ของกลุ่มคริสตชน วัดแม่พระองค์อุปถัมภ์ พนม จ.สุราษฎร์ธานี
การก่อตั้งกลุ่มคริสตชนตั้งแต่ยุคบุกเบิกของบรรดามิชชันนารี (1970-2020)
กลุ่มคริสตชนแรกที่สกลนคร
เมื่อตั้งกลุ่มคริสตชนที่นครพนมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต่อมาในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1884 คุณพ่อโปรดม เดินทางไปสกลนครพร้อมกับครูทัน ตั้งใจจะไปเยี่ยมคริสตชนที่มาจากประเทศเวียดนามตามที่ได้ยินมา และเปิดศูนย์คาทอลิกที่นั่นหากเป็นไปได้ คุณพ่อได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากคริสตชนชาวเวียดนามและมีชาวเวียดนามจำนวนหนึ่งแจ้งความจำนงจะเป็นคริสตชนคุณพ่อจึงได้สร้างที่พักและอยู่กับพวกเขา 1 เดือน ได้ใช้โอกาสนั้นสอนศาสนาแก่ผู้สนใจ แล้วจึงมอบให้ครูทันดูแล ส่วนคุณพ่อเดินทางกลับนครพนม
เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1884 คุณพ่อโปรดม เดินทางไปสกลนครอีกครั้งหนึ่งพร้อมกับคุณพ่อเกโก ในรายงานประจำปี ค.ศ.1910 คุณพ่อโปรดม ได้บันทึกไว้ว่า “ศูนย์คาทอลิกสกลนครเปิดปี ค.ศ.1884 และในวันที่ 8 กันยายน ปีเดียวกัน คริสตชนกลุ่มแรกได้รับศีลล้างบาปในโรงสวดที่ปลูกไว้ชั่วคราวระหว่างหนองหารกับตัวเมือง” บริเวณซึ่งเคยเป็นที่ตั้งโรงภาพยนตร์ประสานราษฏร์เดิม แต่จากหลักฐาน “สมุดบันทึกศีลล้างบาปคริสตตัง สกลนคร ปี 1884,1885,1886” ที่บันทึกโดย คุณพ่อโปรดม ผู้ที่ได้รับศีลล้างบาปลำดับที่ 1 คือมารีอาเดียง ได้รับศีลล้างบาป ในโอกาสสมโภชแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ วันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1884 ทำให้เราแน่ใจว่า คุณพ่อโปรดม ได้โปรดศีลล้างบาปคริสตชนที่สกลนครก่อนหน้านั้นแล้ว ต่อมาคุณพ่อโปรดม ได้มอบกลุ่มคริสตชนกลุ่มนี้ให้คุณพ่อเกโกกับครูทัน ดูแล และเดินทางกลับไปอุบลฯ เพื่อเป็นประธานการเข้าเงียบประจำปีของพระสงฆ์และเตรียมตัวเดินทางไปกรุงเทพฯ
นานวันเข้าได้มีหลายคนมาสมัครเป็นคริสตชน ส่วนใหญ่เป็นชาวเวียดนามที่ได้รับการปลดปล่อยจากการเกณฑ์แรงงานและคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผีปอบ 40 คน ทำให้จำนวนคริสตชนเพิ่มมากขึ้น เป็นความลำบากสำหรับคุณพ่อเกโก ในอันที่จะจัดหาที่ดินเพื่อพักอาศัยและทำกินสำหรับคริสตชนเหล่านั้นในตัวเมืองสกลนคร ประกอบกับถูกกลั่นแกล้งไม่หยุดหย่อนจากเจ้าหน้าที่บางคนจึงได้คิดหาทำเลสำหรับตั้งหมู่บ้านคริสตชนใหม่ ในคืนวันหนึ่งหลังการสมโภชนักบุญทั้งหลายปี ค.ศ.1884 คุณพ่อเกโกและครูทัน ได้ตัดสินใจย้ายกลุ่มคริสตชนโดยจัดทำแพใหญ่ทำด้วยเรือเล็กและไม้ไผ่ผูกติดกันบรรทุกทั้งคนและสัมภาระลงแพ ใช้ผ้าห่มและผืนผ้าขึงแทนใบให้ลมพัดไปในทิศทางที่พระเป็นเจ้าทรงประสงค์ ที่สุดพวกเขาสามารถข้ามไปยังอีกฝากหนึ่งของหนองหารอย่างปลอดภัยและตั้งหลักแหล่งที่นั่น
วัดมหาพรหมมีคาแอล หนองหาร
คริสตชนกลุ่มแรกที่ย้ายมามี 20 ครอบครัว ประมาณ 150 คน นับทั้งที่ได้รับศีลล้างบาปแล้วกับผู้ที่กำลังเตรียมซึ่งมีทั้งชาวเวียดนามและพื้นเมือง ชาวพื้นเมืองส่วนมากเป็นทาสที่ได้รับการไถ่ให้เป็นอิสระ เนื่องจากคริสตชนเหล่านั้นได้ร้องขอความช่วยเหลือจากอัครเทวดามีคาแอลเป็นประจำเพื่อให้ช่วยคุ้มครองป้องกัน และสู้ทนกับความยากลำบาก เมื่อสร้างวัดหลังแรกที่มีลักษณะเป็นโรงเรือนชั่วคราวแล้วเสร็จจึงตั้งชื่อว่า “วัดมหาพรหมมีคา หนองหาร” ดังปรากฏในเอกสารบันทึกศีลล้างบาปวัดนักบุญมารีอา มักดาเลนา นาโพธิ์ ที่บันทึกโดย คุณพ่อยอแซฟ กอมบูริเออ ว่าคริสตชนกลุ่มแรกของวัดนาโพธิ์ล้างบาปที่ “วัดมหาพรหมมีคาแอล หนองหาร” (Ecclesia Sti Michaelis Nong-Han) เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1888
เป็นที่น่าสังเกตว่าในการล้างบาปคริสตชนที่ท่าแร่ในเวลาต่อมาในปี ค.ศ.1885 ที่บันทึกโดย คุณพ่อยอร์ช ดาแบงยังคงใช้คำว่า “วัดสกล” (Ecclesiae Sakhon) บางครั้งก็ใช้คำว่า “วัดเล็กเมืองสกลนคร” (Sacello civitatis Sakhon Nakhon) ในการล้างบาปอีกครั้งในวันฉลองแม่พระลูกประคำ วันที่ 7 ตุลาคม จึงใช้คำว่า “วัดมหาพรหม มีคาแอล เมืองสกล” (Ecclesia Sti Michaelis Urbis Sakhon) ต่อมาในสมัยคุณพ่อกอมบูริเออใช้เพียงว่า “วัดมหาหม มีคาแอล” (Ecclesia Michaelis) ตามที่ปรากฏใน “สมุดบันทึกศีลล้างบาปคริสตัง สกลนคร ปี 1884, 1885, 1886” ยังไม่มีการใช้ชื่อ “ท่าแร่” แต่อย่างใด
เป็นไปได้ว่าชื่อ “หนองหาร” อาจเป็นชื่อดั้งเดิมของกลุ่มคริสตชนที่ท่าแร่ ส่วนการจะเปลี่ยนชื่อเป็น “ท่าแร่” เมื่อไรนั้นไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่จากเอกสารที่เขียนด้วยอักษรโรมัน (ภาษาวัด) 2 เล่ม ซึ่งผู้เขียนให้ชื่อว่า “บันทึกเหตุการณ์และหนังสือเข้า” และ “สำเนาหนังสือออกและคดีความ” ที่บันทึกโดยคุณพ่อกอมบูริเออ ในช่วงแรกไม่ปรากฏการใช้ชื่อ “ท่าแร่” แต่อย่างใด นอกจากชื่อ “วัดมหาพรหมมีคาแอล แขวงเมืองสกลนคร” เพิ่งจะมาปรากฏในบันทึก “สำเนาหนังสือออกและคดีความ” เลขที่ 10 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ.1901 ที่คุณพ่อกอมบูริเออ เขียนถึงพระวิชิตพลหาร ผู้ช่วยเมืองสกลนคร จึงได้ใช้ชื่อ “บ้านท่าแร่” โดยเขียนขึ้นต้นหนังสือฉบับนั้นว่า “ที่สำนักท่านบาทหลวง บ้านท่าแร่” อย่างไรก็ตามเป็นที่ทราบกันว่าชื่อ “ท่าแร่” เรียกตามชื่อถิ่นที่ตั้งหมู่บ้าน อันเป็นบริเวณที่เต็มไปด้วยป่าไม้มีหินลูกรังอยู่ทั่วไป ซึ่งคนภาคพื้นนี้เรียกว่า “หินแฮ่” และเป็นชื่อที่เรียกขานกันตั้งแต่เริ่มแรกเช่นเดียวกันในหมู่ชาวบ้าน จนเป็นที่นิยมเรียกกันทั่วไป ต่อมาชื่อ “ท่าแร่” จึงได้กลายมาเป็นชื่อหมู่บ้านอย่างในปัจจุบัน ส่วนชื่อวัดยังคงใช้ชื่อ “วัดมหาพรหมมีคาแอล” เมื่อสร้างวัดหลังที่ 2 ก็ยังคงใช้ชื่อนี้จวบจนกระทั่งอาสนวิหารหลังปัจจุบัน สร้างสำเร็จ เมื่อวันที่ 16 เมษายน ค.ศ.1971 จึงได้ชื่อ “อาสนวิหารอัครเทวดา มีคาแอล”
วัดหลังที่ 2
วัดหลังที่ 2 ซึ่งมีโครงสร้างถาวรผนังก่ออิฐถือปูนมีหอสูงด้านหน้า 1 หอ และด้านหลัง 2 หอ สร้างในปี ค.ศ.1901 ดังปรากฏในเอกสาร “สำเนาจดหมายออกและคดีความ” เลขที่ 29 ที่คุณพ่อกอมบูริเออ พร้อมกับขุนพิทักษ์ประเทศ ตาแสง (ผู้ใหญ่บ้าน) บ้านท่าแร่ ได้เขียนไปถึง พระยาจันตประเทศธานี เจ้าเมือง, ชาเนตร ข้าหลวงประจำเมือง, อุปฮาด,ราชวงศ์,ราชบุตร และกรมการเมืองสกลนคร เพื่อแจ้งให้ทราบถึงความประสงค์ที่จะรื้อวัดเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมและสร้างพระวิหารใหม่ขึ้น พร้อมกับขออนุญาตให้บ่าวไพร่ราษฎรบ้านท่าแร่ได้งดเว้นจากงานราชการ เพื่อจะได้พร้อมใจกันก่อสร้างพระวิหารใหม่ในตอนต้นปี จดหมายฉบับนั้นลงวันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ.1900 จึงทำให้เราทราบว่า พระวิหารใหม่ หรือวัดหลังที่ 2 ได้เริ่มสร้างเมื่อต้นปี ค.ศ.1901
และใช้เวลาในการก่อสร้างหลายปี เพราะชาวท่าแร่บางส่วนยังถูกเกณฑ์ไปทำงานหลวงไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าเมืองตามที่ คุณพ่อกอมบูริเออ ร้องขอ อีกทั้งความจำกัดในเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือและอุปกรณ์ก่อสร้างในสมัยนั้น เห็นได้จากเอกสาร “บันทึกเหตุการณ์และหนังสือเข้า” เลขที่ 249 และ 250 ลงวันที่ 14 และ 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1903 ตามลำดับ ซึ่งเป็นหนังสือที่พระอนุบาลสกลเกศ ยกกระบัตรเมืองสกลนครมีมาถึงคุณพ่อกอมบูริเออ โดยอ้างถึงหนังสือที่คุณพ่อเขียนไปปรึกษาเพื่อขออิฐที่ถูกทิ้งตามเกาะหนองหาร สำหรับการสร้างพระวิหารใหม่ และพระอนุบาลฯ บอกให้รอไว้ก่อนเพราะพระยาจันต์ฯ เจ้าเมืองไม่อยู่ และภายหลังเมื่อพระยาจันต์ฯ กลับมาได้ปรึกษาหารือกันและพระอนุบาลฯ ได้มีหนังสือตอบกลับมาอีกว่า อิฐเหล่านั้นให้ไม่ได้เพราะเป็นวัดและปัฌิมาโบราณอันเป็นที่นับถือของชาวพุทธ อย่างไรก็ดีการก่อสร้างได้ดำเนินเรื่อยมาและเป็นไปด้วยความยากลำบาก ในเอกสารเล่มเดียวกัน เลขที่ 291 ลงวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ.1905 ซึ่งเป็นหนังสือตอบของพระอนุบาลฯ เรื่องที่คุณพ่อกอมบูริเออ ขอเช่าเรือไปบรรทุกปูนซีเมนต์ที่เมืองนครพนมสำหรับการสร้างพระวิหารที่ท่าแร่ ซึ่งเส้นทางน้ำจากท่าแร่ไปเมืองนครพนมมีแต่ทางเดียว คือล่องเรือตามลำน้ำก่ำออกสู่แม่น้ำโขง แล้วย้อนขึ้นไปเมืองนครพนมซึ่งจะเดินเรือตามเส้นทางนี้ได้ก็แต่เฉพาะในฤดูน้ำหลากเท่านั้น และต้องใช้เวลาเดินทางนานทีเดียว จึงทำให้เราทราบว่าการก่อสร้างวัดหลังที่ 2 ใช้เวลาก่อสร้างหลายปีกว่าจะสร้างสำเร็จ
ที่สุดพระวิหารใหม่ได้สร้างเสร็จสมบูรณ์มีพิธีเสกและเปิดโดยคุณพ่อโปรดม อุปสังฆราช ในโอกาสฉลองวัดเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1906 ตามบันทึกของพระสังฆราชบาเยต์ ที่ได้ยินจากคำบอกเล่าของ คุณพ่อกอมบูริเออ ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้เสด็จตรวจเยี่ยมมณฑลอีสานเป็นเวลานาน 3 เดือน ในระหว่างเส้นทางไปเมืองสกลนครผ่านบ้านท่าแร่ ได้หยุดแวะเยี่ยมมิชชันนารี ที่บ้านพักพระสงฆ์เป็นเวลานานและได้ทรงถ่ายภาพวัดหลังใหม่เมื่อวันที่ 14 มกราคม ค.ศ.1907 ทำให้เราได้เห็นถึงความสวยงามโอ่อ่าตระการตาของวัดหลังนั้นเมื่อแรกสร้าง ต่อมาประมาณปี ค.ศ.1925-2926 คุณพ่อกอมบูริเออ ได้ดำเนินการบูรณะปรับปรุงโครงสร้างวัดใหม่ เข้าใจว่าเพื่อเตรียมฉลองครบรอบ 20 ปีของวัดหลังดังกล่าว ด้วยการทุบหอสูง 2 หอด้านหลัง และเสริมหอใหญ่ด้านหน้าวัดให้ใหญ่ขึ้น เพื่อใช้แขวนระฆังใบใหญ่เพิ่มอีก 2 ใบ ที่ได้รับการถวายจากคหบดีชาวท่าแร่ รวมเป็น 3 ใบ ระฆังใบใหญ่สุดได้รับการถวายจาก องบัง,องเด (สองพี่น้อง) และญาติพี่น้อง ใบรองลงมาได้รับการถวายจากองเลี่อง และญาติพี่น้อง ดังปรากฏชื่อที่จารึกด้วยอักษรโรมันในระฆังทั้ง 2 ใบ ส่วนอีกด้านของระฆังทั้ง 2 ใบจารึกปีที่นำมาคือปี ค.ศ.1926 และชื่อพระสังฆราชแกวง และคุณพ่อกอมบูริเออ เจ้าอาวาส
คุณพ่อยอแซฟ กอมบูริเออ เจ้าอาวาสองค์แรก
คุณพ่อกอมบูริเออ เกิดเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ.1861 ที่ มูล เดอ บาเรส สังฆมณฑลโรแดส แคว้นอาเว รอง ประเทศฝรั่งเศส ในครอบครัวของชาวนา ก่อนที่จะย้ายไปตั้งหลักแหล่งที่โรยัก สังฆมณฑลแซงฟลูร์ แคว้นกังตาลและเข้าบ้าเณรใหญ่ที่นั่นในปี ค.ศ.1879 ต่อมาได้เข้าบ้าเณรของคณะมิสซังต่างประเทศเมื่อวันที่ 7 กันยายน ค.ศ.1882 จนกระทั่งบวชเป็นพระสงฆ์เมื่อวันที่ 20 กันยายน ค.ศ.1884 และได้รับมอบหมายให้เดินทางมาประเทศสยาม โดยออกจากบ้านเณรที่ถนนดือบักเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ.1884
เมื่อคุณพ่อกอมบูริเออ เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่คุณพ่อโปรดม เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อรับสิ่งจำเป็นสำหรับงานแพร่ธรรม และขอมิสชันนารีไปช่วยงานที่ภาคอีสาน พระสังฆราชเวย์ จึงให้ คุณพ่อกอมบูริเออเดินทางไปพร้อมกับคุณพ่อโปรดม โดยใช้ม้าเป็นพาหนะจนถึงนครราชสีมาและต่อไปถึงอุบลราชธานี จากนั้นได้เดินทางไปบ้านคำเกิ้ม ที่สุดได้เดินทางมาถึงท่าแร่ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ.1885 ขณะนั้นกลุ่มคริสตชนที่ท่าแร่ ตั้งได้ประมาณ 7 เดือน มีคริสตชน 147 คนและผู้สมัครเรียนคำสอน 692 คน ในระยะแรก คุณพ่อโปรดม ทำหน้าที่เป็นผู้สอนคำสอนคริสตชนใหม่และผู้สมัครเรียนคำสอน ขณะที่คุณพ่อกอมบูริเออ เริ่มเรียนภาษา และก่อนจะเดินทางออกจากท่าแร่ คุณพ่อโปรดม ได้แต่งตั้ง คุณพ่อกอมบูริเออ ให้เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก นับเป็นเจ้าอาวาสที่หนุ่มที่สุด มีอายุเพียง 23 ปี โดยมอบหมายให้คุณพ่อดาแบง ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงและสอนคำสอน พร้อมกับล้างบาปผู้สมัครเป็นคริสตชนที่ท่าแร่เป็นจำนวนหนึ่งดังปรากฎในเอกสารสมุดบันทึกศีลล้างบาป ปี ค.ศ.1885 ก่อนหน้าที่จะย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดบุ่งกะแทว ที่อุบลฯ ในเดือนตุลาคมปีนั้นเอง คุณพ่อกอมบูริเออ จึงต้องรับผิดชอบคริสตชนที่ท่าแร่ตามลำพังพร้อมกับครูทัน โดยมี คุณพ่อเกโก จากวัดเกิ้มแวะเวียนมาเยี่ยมบ้าง ครั้งคราว
คุณพ่อกอมบูริเออ เป็นเจ้าอาวาสวัดท่าแร่จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ.1937 จึงได้ลาออกจากตำแหน่ง ตลอดเวลาที่เป็นเจ้าอาวาสกว่า 52 ปี คุณพ่อได้เอาใจใส่ดูแลอย่างเต็มความสามารถในการอบรมชาวท่าแร่ให้ก้าวหน้าและมั่นคงในความเชื่อคาทอลิกอย่างแท้จริง ดังปรากฏในคราวที่มีการเบียดเบียนศาสนาตลอดเวลากว่า 5 ปี มีคริสตชนน้อยคนที่มีจิตใจโลเลไปบ้าง และได้สร้างคุณประโยชน์มากมายสำหรับชาวท่าแร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดตั้งโรงเรียนมหาพรหมมีคาแอล เพื่อให้การศึกษาแก่กุลบุตรกุลธิดาชาวท่าแร่ให้มีความรู้ และจัดตั้งอารามภคินีรักกางเขนแห่งท่าแร่ เพื่อช่วยงานพระสงฆ์ตามวัด นับว่าคุณพ่อเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและมีพระคุณต่อชาวท่าแร่เป็นอย่างมาก
นอกนั้นคุณพ่อกอมบูริเออ ได้จัดวางผังหมู่บ้านและการตั้งบ้านเรือนตามหลักวิชาการสมัยใหม่ คือตัดถนนตรงแน่ว บริเวณวัด อารามและสุสานอยู่ตรงกลางหมู่บ้าน จัดให้สัตบุรุษตั้งบ้านเรือนอยู่ 2 ฟากคือ ด้านตะวันออกและตะวันตกอยู่กันเป็นหมวดหมู่เป็นคุ้ม ดังนี้ ด้านตะวันออกของวัดจัดให้คนไทยเหนืออาศัยมีขุนบรรจง (บิดาของนายห้อยแสง) เป็นหัวหน้า คุ้มนี้เรียกว่า “คุ้มกลาง” ต่อออกไปเป็น “คุ้มท่าแร่” โดยมากเป็นคนจากสกลนครอาศัยอยู่มีขุนพิทักษ์(บิดากำนันอิ้ม) เป็นหนัวหน้าคุ้ม ปัจจุบันได้แก่ผู้ที่ใช้นามสกุล เสมอพิทักษ์ และ ยงบรรทม ทางด้านตะวันตกเป็นที่อาศัยของชาวเวียดนาม เรียกว่า “คุ้มแกว” มี หลวงประเทศ และหมื่นเดช เป็นหัวหน้าคุ้ม ปัจจุบันได้แก่ผู้ที่ใช้นามสกุล โสรินทร์, อุดมเดช, กายราช, สกนธวัฒน์ และ ศรีวรกุล
ต่อไปเป็นคุ้มที่มาจากมุกดาหาร(บ้านหว้าน) จึงได้ชื่อว่า “คุ้มป่าหว้าน” มีขุนขจร เป็นหัวหน้าคุ้ม เมื่อทางราชการจัดบ้านเมืองในรูปหมู่บ้านและตำบล ท่าแร่ได้เป็นตำบลมีกำนันเป็นหัวหน้า แบ่งออกเป็น 4 หมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้านปกครองแต่ละหมู่ ทั้งนี้เนื่องด้วยท่าแร่มีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น หลังปีค.ศ.1920 ท่าแร่ได้ขยายตัวยาวออกไปทางตะวันตก มีชาวเวียดนามใหม่อพยพมาอยู่เป็นจำนวนมาก จึงได้ชื่อว่า “คุ้มบ้านใหม่” และเมื่อทางราชการตัดถนนหลวงหมายเลข 22 สายอุดรธานี นครพนม ผ่านท่าแร่ ผู้คนได้ขยายออกไปอยู่ 2 ฟากถนนอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
ตลอดเวลาที่อยู่ท่าแร่ คุณพ่อกอมบูริเออ ได้กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดเพียงครั้งเดียว นับว่าเป็นผู้ที่เสียสละอย่างมาก คุณพ่อเป็นคนประหยัดในการกินอยู่ ไม่ชอบกินเนื้อจนคุณพ่อปลัดท่านหนึ่งกล่าวต่อหน้าท่านว่า “สำหรับวัดท่าแร่ พระบัญญัติห้ามเนื้อต้องเปลี่ยนใหม่ อย่าเอาเนื้อเป็นอาหารในวันศุกร์และวันอื่นๆ ด้วย” นอกนั้นคุณพ่อยังมีความคิดที่แยบยลในการปกครองชาวเวียดนาม กล่าวคือ คุณพ่อต้องการให้ชาวเวียดนามที่เกิดในประเทศไทยเป็นคนไทยจริงๆ จึงกำหนดให้ใช้ภาษาไทยในการเรียนคำสอนและรับศีลอภัยบาป ไม่ส่งเสริมและอ่านภาษาเวียดนามแต่อนุโลมให้ใช้ในการภาวนาในวัดเป็นครั้งคราว ทำให้ลูกหลานชาวเวียดนามมีจิตใจเป็นคนไทยอย่างไม่เอนเอียง ดังปรากฏ เมื่อมีชาวเวียดนามอพยพเข้ามาประเทศไทยและจัดตั้งสมาคมต่างๆ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางการเมืองของประเทศตนจึงไม่มีลูกหลานชาวเวียดนามคนใดเห็นดีด้วย
ปี ค.ศ.1938 หลังจากได้ลาออกจากการเป็นผู้รับผิดชอบมิสซัง และเจ้าอาวาสวัดท่าแร่ คุณพ่อกอมบูริเออ ได้รับหน้าที่เป็นจิตตาธิการภคินีรักกางเขนแห่งท่าแร่ที่คุณพ่อได้ก่อตั้งขึ้น จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1939 คุณพ่อได้ล้มป่วยลง และได้ถวายดวงวิญญาณคืนแด่พระเป็นเจ้าเมื่อ วันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ.1939 ขณะอายุได้ 78 ปี ในฐานะที่คุณพ่อเป็นเพื่อนร่วมงานของคุณพ่อโปรดม และ คุณพ่อเกโก คุณพ่อไม่ได้ด้อยกว่าท่านทั้งสองในด้านการงานแต่ประการใดคุณพ่อได้ทิ้งผลงานมากมายให้มิสซังและบ้านท่าแร่ ควรที่ชาวท่าแร่จะรำลึกถึงตราบนานเท่านาน คุณพ่อเจ้าอาวาสองค์ที่ 2 คือ คุณพ่อเกลาดิอุส บาเยต์ ซึ่งเคยเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส คุณพ่อกอมบูริเออ ร่วม 10 ปี
คุณพ่อเป็นผู้ที่เอาใจใส่การศึกษามาก โดยการตั้งโรงเรียนมัธยมชาย-หญิงขึ้นในปี ค.ศ.1939 โดยใช้ชื่อว่า “โรงเรียนเซนต์ยอแซฟ” เพื่อเป็นสถานศึกษาสำหรับสามเณร เณรีและเด็กทั่วไป เสียดายที่คุณพ่อเป็นเจ้าอาวาสได้ไม่นานก็ต้องถูกควบคุมตัวออกนอกประเทศ เพราะเกิดกรณีพิพาทอินโดจีนในช่วงปลายปี ค.ศ.1940 โรงเรียนที่คุณพ่อตั้งถูกล้มเลิกด้วย วัด อารามถูกปิด คริสตชนชาวท่าแร่ตกอยู่ในสภาพอลเวงเป็นเวลาร่วม 5 ปี โดยมีคุณพ่อเปาโลศรีนวล ศรีวรกุล ผู้อำนวยการมิสซังขณะนั้น คุณพ่อยวง สต๊อกแกร์, คุณพ่ออันตนคำผง กายราช, คุณพ่อ อังเยโล มาร์เกซี แห่งคณะซาเลเซียน และคุณพ่อยอแซฟอินทร์ นารินรักษ์ คอยดูแลและเป็นกำลังใจให้โดยอาศัยพักตามบ้านเรือนของสัตบุรุษ เมื่อเหตุการณ์สงบคืนสู่สภาพปกติ ทางมิสซังจึงได้ให้คุณพ่อซามูแอลสมุห์ พานิชเกษม จากจันทบุรีที่ขึ้นมาช่วยงานมิสซังในยามฉุกเฉินเป็นเจ้าอาวาส ซึ่งคุณพ่อได้ใช้ความรู้และความสามารถทั้งหมด ในการจัดวัดวาอารามให้เข้ารูปเดิม
ต่อมาในปี ค.ศ.1948 คุณพ่อยอห์น บัปติสต์แท่ง ยวงบัตรี ได้มาเป็นเจ้าอาวาสและได้เอาใจใส่ดูแลสัตบุรุษทั้งฝ่ายวิญญาณและกายโดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยเหลือคริสตชนจากมิสซังอุบลราช ธานีที่อพยพมาหาที่ทำกินใหม่ในช่วงปี ค.ศ.1953-1954 เนื่องจากอุบลฯ เกิดข้าวยากหมากแพง โดยจัดพวกเขาให้อยู่เป็นหมวดหมู่ตามแนวของทางหลวงแผ่นดิน สายสกลนคร-นครพนม และตั้งชื่อหมู่บ้านใหม่นี้ว่า “บ้านนิรมัย” ในความอุปถัมภ์ของพระวิสุทธิวงศ์ ขณะที่คุณพ่อดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสในปี ค.ศ.1960 ซึ่งเป็นปีที่วัดมหาพรหมมีคาแอลมีอายุครบ 75 ปี ทางมิสซังได้จัดงานวชิรสมโภช พร้อมกับงานหิรัญสมโภชศีลอนุกรมของ คุณพ่ออันตนคำผง กายราช และคุณพ่อเปาโลคำจวน ศรีวรกุล อย่างยิ่งใหญ่ในเดือนมกราคม ค.ศ.1961 โดยมีคุณพ่อยอแซฟอินทร์ นารินรักษ์ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสแทน