Thai Catholic Hub

Connecting in Christ

การสวดสายประคำ

การสวดสายประคำ

/
/
การสวดสายประคำ

การสวดสายประคำ

ประวัติการสวดสายประคำ

“การสวดสายประคำเป็นรูปแบบหนึ่งของการอุทิศตนแด่พระนางมารีย์ที่เป็นที่นิยมอย่างมาก ซึ่งเด่นชัดที่สุดในช่วงปลายศตวรรษที่ 12 ฤาษีคณะซิสเตอร์เซียนได้เริ่มในศตวรรษต่อมา และฤาษีคณะโดมินิกันซึ่งมีส่วนในการเผยแพร่อย่างมาก โดยมีความตั้งใจที่จะสู้กับคำสอนนอกรีต… เม็ดของสายประคำใช้เหมือนกับการวอนขอเช่นกัน ซึ่งมีการปรับให้ง่ายขึ้น และสร้างความสนใจให้มากขึ้น หลังจากนั้นมีการเริ่มการสวดด้วยการกล่าวถึงพระธรรมล้ำลึกแห่งชีวิตของพระเยซูเจ้าและพระนางมารีย์… นักบุญดอมินิกและบรรดานักพรตของท่าน ได้เทศน์สอนประชาชนในการแพร่ธรรมของท่านในเรื่องการสวดสายประคำเป็นอย่างมาก แต่ไม่ง่ายนักที่จะกำหนดรูปแบบที่แน่นอนในการปฏิบัติ และเผยแพร่รูปแบบหนึ่งที่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการจากสมเด็จพระสันตะปาปา ปีอุส ที่ 5 คือ กำหนดและให้มีรูปแบบเดียวกันในข้อความของบทวันทามารีอา”

พระนางพรหมจารีย์ได้ปลุกเร้าให้ประชาชนสวดสายประคำ ทั้งจากการประจักษ์ที่เมืองลูร์ด และฟาติมา ในระหว่างสหัสวรรษที่ 2 สมเด็จพระสันตะปาปาได้สนับสนุนให้มีการวอนขอพระนางมารีย์ และตั้งแต่สมณสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 13 ซึ่งได้รับพระนามว่า “พระสันตะปาปาแห่งสายประคำ” ทรงแนะนำให้ทุกคนสวดสายประคำ และทรงเพิ่มความสำคัญด้วยการประทานพระคุณการุณย์ในการสวดสายประคำด้วย

สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ทรงอุทิศพระองค์เองเป็นพิเศษแด่พระชนนีของพระเจ้า ตราประจำพระองค์ก็มีอักษรตัวแรกของพระนาง (Totus tuus) เป็นการวิงวอนของพระนางพรหมจารีมารีย์ พระองค์ทรงมีสายประคำอยู่กับพระองค์เสมอ และสวดเป็นประจำ สมณสาสน์เรื่องการสวดสายประคำเป็นสิ่งที่ยืนยันอย่างมั่นคงถึงความนับถือของพระองค์ต่อการสวดสายประคำ

ข้อดีของการสวดสายประคำสม่ำเสมอ

ขอขอบคุณ

คุณพ่อสุพจน์ ฤกษ์สุจริต
วัดอัครเทวดาราฟาแอล (ปากน้ำ)

วิธีการสวดสายประคำ

เริ่มต้นด้วยการ

  1. ทำเครื่องหมายกางเขน
  2. สวดบทข้าพเจ้าเชื่อ
  3. สวดบทข้าแต่พระบิดา x 1 ครั้ง
  4. สวดบทวันทามารีย์ x 3 ครั้ง
  5. สวดบทพระสิริรุ่งโรจน์ x 1 ครั้ง
  6. สวดข้อรำพึงพระธรรมล้ำลึกในแต่ละข้อแล้วคั่นด้วยการสวดในลำดับถัดไป
  7. สวดบทข้าแต่พระบิดา x 1 ครั้ง
  8. สวดบทวันทามารีย์ x 10 ครั้ง
  9. สวดบทพระสิริรุ่งโรจน์ x 1 ครั้ง
  10. สวดบท “โอ้ พระเยซูของข้าพเจ้า”
  11. หลังจากจบข้อรำพึงที่ 5 ปิดท้ายด้วยการสวดบทวันทาพระราชินี

บทข้าพเจ้าเชื่อ (สัญลักษณ์ของอัครสาวก) (Credo)

ข้าพเจ้าเชื่อในพระเจ้า พระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพ ทรงเนรมิตฟ้าดิน
ข้าพเจ้าเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรหนึ่งเดียวของพระเจ้า
องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้าทั้งหลาย
ทรงปฏิสนธิเดชะพระจิตเจ้า ทรงบังเกิดจากพระนางมารีย์พรหมจารี
ทรงรับทรมานสมัยปอนทิอัส ปิลาต ทรงถูกตรึงกางเขน สิ้นพระชนม์ และทรงถูกฝังไว้
เสด็จสู่แดนมรณะ วันที่สามทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย
เสด็จสู่สวรรค์ ประทับเบื้องขวาพระเจ้า พระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพ
แล้วจะเสด็จมาพิพากษาผู้เป็นและผู้ตาย
ข้าพเจ้าเชื่อในพระจิตเจ้า พระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์สากล
ความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวของผู้ศักดิ์สิทธิ์ การอภัยบาป
การกลับคืนชีพของร่างกาย และชีวิตนิรันดร
อาแมน

บทข้าแต่พระบิดา (มธ 6:9-13) (Pater Noster)

ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย
พระองค์สถิตในสวรรค์
พระนามพระองค์จงเป็นที่สักการะ
พระอาณาจักรจงมาถึง
พระประสงค์จงสำเร็จในแผ่นดินเหมือนในสวรรค์
โปรดประทานอาหารประจำวัน แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายในวันนี้
โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้า เหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น
โปรดช่วยข้าพเจ้าไม่ให้แพ้การผจญ
แต่โปรดช่วยให้พ้นจากความชั่วร้ายเทอญ อาแมน

บทวันทามารีย์ (Ave Maria)

วันทามารีย์ เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน พระเจ้าสถิตกับท่าน
ผู้ได้รับพระพรกว่าสตรีใดๆ
และพระเยซูโอรสของท่าน ทรงได้รับพระพรยิ่งนัก
สันตะมารีย์ พระมารดาพระเจ้า
โปรดภาวนาเพื่อลูกทั้งหลายผู้เป็นคนบาป บัดนี้และเมื่อจะตาย อาแมน

บทพระสิริรุ่งโรจน์ (Gloria Patri)

พระสิริรุ่งโรจน์แด่พระบิดา และพระบุตร และพระจิต
เหมือนในปฐมกาล บัดนี้และทุกเมื่อตลอดนิรันดร อาแมน

บทวันทาพระราชินี (Salve Regina)

วันทาพระราชินี พระแม่ผู้ทรงเมตตากรุณา
ทรงเป็นชีวิต ความอ่อนโยน และความหวังของลูกทุกคน
ลูกผู้เป็นลูกหลานที่ถูกเนรเทศของเอวา ขอวันทา ร้องหาพระแม่
ถอนใจคร่ำครวญร่ำไห้ในเหวน้ำตานี้
โปรดเถิดพระแม่ ผู้ทรงช่วยเหลือเกื้อกูลลูก
โปรดทอดพระเนตรเมตตามายังลูก
และเมื่อชีวิตเนรเทศนี้ผ่านพ้นไปแล้ว
โปรดแสดงให้ลูกเห็นพระเยซู พระบุตรผู้ทรงได้รับพระพร
ข้าแต่พระแม่ผู้เมตตากรุณา พระแม่ผู้โอบอ้อมอารี
มารีย์พรหมจารีผู้มีพระทัยอ่อนโยน

พระธรรมล้ำลึกของการสวดสายประคำ

การสวดสายประคำประกอบด้วย “พระธรรมล้ำลึก” ยี่สิบประการ (หมายถึงเหตุการณ์ในชีวิตของพระเยซูเจ้า และพระนางมารีย์) พระสมณสาสน์ เรื่องการสวดสายประคำ ได้รวมกลุ่มเป็น 4 ตอนติดต่อกัน

ตอนที่ 1 พระธรรมล้ำลึกน่ายินดี (สวดวันจันทร์และวันเสาร์)
ข้อรำพึงเกี่ยวกับการบังเกิดของพระเยซูเจ้า

1. ทูตสวรรค์แจ้งข่าวแก่พระนางมารีย์

“พระเจ้าทรงส่งทูตสวรรค์กาเบรียลมายังเมืองหนึ่งในแคว้นกาลิลี ชื่อเมืองนาซาเร็ธ มาพบหญิงพรหมจารีคนหนึ่งซึ่งหมั้นอยู่กับชายชื่อโยเซฟ ในราชวงศ์ของกษัตริย์ดาวิด หญิงพรหมจารีผู้นั้นชื่อมารีย์” (ลก 1:26-27)

“การที่ทูตสวรรค์แจ้งข่าวแก่พระนางมารีย์ เป็นการเริ่ม “เวลาที่กำหนดไว้” (กท 4:4) เป็นการกระทำให้พระสัญญาของพระเจ้า และการเตรียมกิจการต่างๆ ให้สำเร็จไป” (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 484)


2. พระนางมารีย์เสด็จเยี่ยมนางเอลีซาเบธ

“หลังจากนั้นไม่นาน พระนางมารีย์ทรงรีบออกเดินทางไปยังเมืองหนึ่งในแถบภูเขาแคว้นยูเดีย พระนางเสด็จเข้าไปในบ้านของเศคาริยาห์และทรงทักทายนางเอลีซาเบธ เมื่อนางเอลีซาเบธได้ยินคำทักทายของพระนางมารีย์ บุตรในครรภ์ก็ดิ้น นางเอลีซาเบธได้รับพระจิตเจ้าเต็มเปี่ยม ร้องเสียงดังว่า “เธอได้รับพระพรยิ่งกว่าหญิงใด ๆ และลูกของเธอก็ได้รับพระพรด้วย (ลก 1: 39-42 )

“พระนางมารีย์เสด็จเยี่ยมนางเอลีซาเบธ ได้กลายเป็นการเสด็จเยี่ยมของพระเจ้าแก่ประชากรของพระองค์” (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 717)


3. พระเยซูเจ้าประสูติ ณ เมืองเบธเลเฮม

“ครั้งนั้น พระจักรพรรดิออกัสตัส ทรงออกพระราชกฤษฎีกาให้มีการสำรวจสำมะโนประชากรทั่วจักรวรรดิโรมัน การสำรวจสำมะโนประชากรครั้งแรกนี้ มีขึ้นเมื่อคีรินีอัสเป็นผู้ว่าราชการแคว้นซีเรีย ทุกคนต่างไปลงทะเบียนในเมืองของตน โยเซฟออกเดินทางจากเมืองนาซาเร็ธในแคว้นกาลิลีไปยังเมืองของกษัตริย์ดาวิดชื่อเบธเลเฮมในแคว้นยูเดีย เพราะโยเซฟสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์กษัตริย์ดาวิด ท่านไปลงทะเบียนพร้อมกับพระนางมารีย์ ซึ่งกำลังทรงพระครรภ์ ขณะที่อยู่ที่นั่น ก็ถึงกำหนดเวลาที่พระนางมารีย์จะมีพระประสูติกาล พระนางประสูติพระโอรสองค์แรก ทรงใช้ผ้าพันพระวรกายพระกุมารนั้น แล้วทรงวางไว้ในรางหญ้า เนื่องจากไม่มีที่ในห้องพักแรมเลย (ลก 2:1-7)
“พระเยซูเจ้าทรงบังเกิดในถ้ำเลี้ยงสัตว์ต่ำต้อย ในครอบครัวที่ยากจน คนเลี้ยงแกะธรรมดาๆ คือประจักษ์พยานกลุ่มแรกของเหตุการณ์ครั้งนั้น ในความยากจนนั้นเองซึ่งสิริโรจนาแห่งสวรรค์ได้ปรากฏให้เห็น” (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 525)


4. พระนางมารีย์ถวายพระกุมารในพระวิหาร

“เมื่อครบกำหนดแปดวัน ถึงเวลาที่พระกุมารจะต้องทรงเข้าสุหนัต เขาถวายพระนามพระองค์ว่าเยซู เป็นพระนามที่ทูตสวรรค์ให้ไว้ก่อนที่พระองค์จะทรงปฏิสนธิ์ในพระครรภ์ของพระมารดา เมื่อครบกำหนดเวลาที่มารดาและบุตรจะต้องทำพิธีชำระมลทิน ตามธรรมบัญญัติของโมเสส โยเซฟพร้อมกับพระนางมารีย์นำพระกุมารไปที่กรุงเยรูซาเล็มเพื่อถวายแด่พระเจ้า มีเขียนไว้ในธรรมบัญญัติของพระเจ้าว่า จะต้องถวายบุตรชายคนแรกแด่พระเจ้า และถวายเครื่องบูชาคือนกเขาหนึ่งคู่หรือนกพิราบสองตัวตามที่มีกำหนดไว้ในธรรมบัญญัติของพระเจ้า (ลก 2:21-24)

“พระเยซูเจ้าทรงรับพิธีเข้าสุหนัต ในวันที่แปดหลังการบังเกิดของพระองค์ เป็นเครื่องหมายของการรวมเข้าในตำแหน่งผู้สืบเชื้อสายของอับราฮัม ในประชากรแห่งพันธสัญญา เครื่องหมายของการยอมอยู่ใต้ธรรมบัญญัติ”
(คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 527)


5. พระนางมารีย์พบพระเยซูเจ้าในพระวิหาร

โยเซฟพร้อมกับพระมารดาของพระเยซูเจ้าเคยขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็มในเทศกาลปัสกาทุกปี เมื่อพระองค์มีพระชนมายุสิบสองพรรษา โยเซฟพร้อมกับพระมารดาก็ขึ้นไปกรุงเยรูซาเล็มตามธรรมเนียมของเทศกาลนั้น เมื่อวันฉลองสิ้นสุดลง ทุกคนก็เดินทางกลับ แต่พระเยซูเจ้ายังประทับอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็มโดยที่บิดามารดาไม่รู้ เพราะคิดว่า พระองค์ทรงอยู่ในหมู่ผู้ร่วมเดินทาง เมื่อเดินทางไปได้หนึ่งวันแล้ว โยเซฟพร้อมกับพระนางมารีย์ตามหาพระองค์ในหมู่ญาติและคนรู้จัก เมื่อไม่พบจึงกลับไปกรุงเยรูซาเล็ม เพื่อตามหาพระองค์ที่นั่น ในวันที่สาม โยเซฟพร้อมกับพระนางมารีย์พบพระองค์ในพระวิหารประทับนั่งอยู่ในหมู่อาจารย์ ทรงฟังและทรงไต่ถามพวกเขา ทุกคนที่ได้ฟังพระองค์ต่างประหลาดใจในพระปรีชาที่ทรงแสดงในการตอบคำถาม (ลก 2:41-47)

“การได้พบพระเยซูในพระวิหาร เป็นเหตุการณ์อันเดียว ซึ่งเข้ามาทำลายความเงียบของพระวรสารเกี่ยวกับปีที่เร้นอยู่เหล่านั้นของพระเยซูเจ้า ในเหตุการณ์นี้พระเยซูเจ้าทรงปล่อยให้เราพอมองเห็นธรรมล้ำลึกแห่งการถวายองค์โดยสิ้นเชิงให้แก่พันธกิจอันเนื่องมาจากการเป็นบุตรพระเจ้า” พ่อแม่ไม่รู้หรือว่า ลูกต้องอยู่ในบ้านของพระบิดาของลูก (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 534)

ตอนที่ 2 พระธรรมล้ำลึกแห่งความสว่าง (สวดวันพฤหัสบดี)
ข้อรำพึงเกี่ยวกับชีวิตเปิดเผยและภารกิจของพระเยซูเจ้า

1. พระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้าง ณ แม่น้ำจอร์แดน

“เมื่อพระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้างแล้ว เสด็จขึ้นจากน้ำ ทันใดนั้นท้องฟ้าเปิดออก พระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระจิตของพระเจ้าเสด็จลงมา เหนือพระองค์ดุจนกพิราบ และมีเสียงจากสวรรค์กล่าวว่า “ผู้นี้เป็นบุตรสุดที่รักของเรา เป็นที่โปรดปรานของเรา (มธ 3 : 16-17)

“การเริ่มต้นชีวิตท่ามกลางสาธารณชนของพระเยซูเจ้า อยู่ที่พิธีล้างซึ่งพระองค์ได้รับจากยอห์นในแม่น้ำจอร์แดน ยอห์นเทศน์สอนเรื่องพิธีล้าง ซึ่งแสดงการเป็นทุกข์กลับใจ เพื่อจะได้รับการอภัยบาป” (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 535)


2. พระเยซูเจ้าทรงเผยพระองค์เองในงานมงคลสมรส ณ หมู่บ้านคานา

“สามวันต่อมา มีงานสมรสที่หมู่บ้านคานาในแคว้นกาลิลี พระมารดาของพระเยซูเจ้าทรงอยู่ในงานนั้น พระเยซูเจ้าทรงได้รับเชิญพร้อมกับบรรดาศิษย์มาในงานนั้นด้วย เมื่อเหล้าองุ่นหมด พระมารดาของพระเยซูเจ้าจึงมาทูลพระองค์ว่า “เขาไม่มีเหล้าองุ่นแล้ว” พระเยซูเจ้าตรัสว่า “หญิงเอ๋ย ท่านต้องการสิ่งใด เวลาของเรายังมาไม่ถึง” พระมารดาของพระเยซูเจ้าจึงกล่าวแก่บรรดาคนรับใช้ว่า “เขาบอกให้ท่านทำอะไร ก็จงทำเถิด” (ยน 2:1-5)

“เมื่อพระเยซูเจ้าเริ่มเทศน์สอน พระองค์ทรงกระทำเครื่องหมายแรก ตามคำขอของพระมารดาของพระองค์ ระหว่างงานเลี้ยงสมรส พระศาสนจักรให้ความสำคัญยิ่งใหญ่ต่อการประทับอยู่ของพระเยซูเจ้าในงานเลี้ยงแต่งงานที่คานา พระศาสนจักรยืนยันความดีของการแต่งงาน และประกาศว่า นับจากนั้นเป็นต้นมา การแต่งงานจะเป็นเครื่องหมายที่มีประสิทธิผลแห่งการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้า” (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 1613)


3. พระเยซูเจ้าทรงประกาศพระอาณาจักรของพระเจ้า และทรงเรียกผู้คนให้กลับใจ

“เวลาที่กำหนดไว้มาถึงแล้ว พระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ใกล้แล้ว จงกลับใจและเชื่อข่าวดีเถิด” (มก 1:15)

“มนุษย์ทุกคนได้รับเรียกให้เข้าสู่พระอาณาจักร ซึ่งแรกทีเดียวได้ประกาศแก่ลูกหลานชาวอิสราเอลนั้น อาณาจักรของพระเมสิยาห์นี้ ได้รับการกำหนดไว้ให้ต้อนรับมนุษย์ทุกชาติ” (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 543)


4. พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระกายอย่างรุ่งโรจน์ ณ ภูเขาทาบอร์

“ต่อมาอีกหกวัน พระเยซูเจ้าทรงพาเปโตร ยากอบ และยอห์นน้องชายไปบนภูเขาสูง ที่ปราศจากผู้คน แล้วพระวรกายของพระองค์ก็เปลี่ยนไปต่อหน้าเขา พระพักตร์เปล่งรัศมีดุจดวงอาทิตย์ ฉลองพระองค์กลับมีสีขาวดุจแสงสว่าง” (มธ 17:1-2)

“ชั่วขณะหนึ่งพระเยซูเจ้าได้ทรงแสดงพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นพระเจ้า เป็นการยืนยันการประกาศยอมรับของเปโตร พระองค์ยังทรงแสดงให้เห็นด้วยว่า พระองค์จะต้องผ่านการถูกตรึงกางเขน ณ กรุงเยรูซาเล็ม “เพื่อจะเข้าไปรับพระสิริ-รุ่งโรจน์ของพระองค์” (ลก 24:26) (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 555)


5. พระเยซูเจ้าทรงตั้งศีลมหาสนิท เพื่อเป็นเครื่องหมายของธรรมล้ำลึกปัสกา

“ขณะที่ทุกคนกำลังกินอาหารอยู่นั้น พระเยซูเจ้าทรงหยิบขนมปังตรัสถวายพระพร ทรงบิขนมปังประทานให้บรรดาศิษย์ตรัสว่า “จงรับไปกินเถิด นี่เป็นกายของเรา” (มธ 26:26)

“โดยการรับประทานอาหารค่ำมื้อสุดท้ายกับบรรดาอัครสาวกของพระองค์ในระหว่างงานเลี้ยงปัสกานั้น พระเยซูเจ้าได้ทรงให้ความหมายที่แน่นอนถึงปัสกาของชาวฮีบรู การที่พระเยซูเจ้าทรงผ่านข้ามไปหาพระบิดาด้วยการสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนพระชนมชีพเป็นปัสกาใหม่ เป็นการกระทำล่วงหน้าในมื้ออาหารค่ำ และในการฉลองศีลมหาสนิท ซึ่งนำปัสกาของชาวฮีบรูไปสู่ความสมบูรณ์ และฉลองปัสกาสุดท้ายของพระศาสนจักรในพระสิริรุ่งโรจน์แห่งพระอาณาจักร (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 1340)

ตอนที่ 3 พระธรรมล้ำลึกพระมหาทรมาน (สวดวันอังคาร และวันศุกร์)
ข้อรำพึงเกี่ยวกับความทุกข์ของพระเยซูเจ้า

1. พระเยซูเจ้าทรงเข้าตรีทูตในสวนเกทเสมนี

เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จมาพร้อมกับบรรดาศิษย์ถึงสถานที่แห่งหนึ่งชื่อเกทเสมนี พระองค์ตรัสแก่เขาเหล่านั้นว่า “จงนั่งอยู่ที่นี่ ขณะที่เราไปอธิษฐานภาวนาที่โน่น” แล้วทรงพาเปโตรและบุตรทั้งสองของเศเบดีไปด้วย พระองค์ทรงรู้สึกเศร้าและสลดพระทัยอย่างยิ่ง จึงตรัสแก่เขาทั้งสามคนว่า “ใจเราเป็นทุกข์แทบสิ้นชีวิต จงอยู่ที่นี่และตื่นเฝ้ากับเราเถิด” แล้วพระองค์ทรงพระดำเนินไปข้างหน้าอีกเล็กน้อย ทรงซบพระพักตร์ลงกับพื้นดิน อธิษฐานภาวนาว่า “พระบิดาเจ้าข้า ถ้าเป็นไปได้ ขอให้ถ้วยนี้พ้นข้าพเจ้าไปเถิด ถ้าเป็นไปไม่ได้ ก็ขออย่าให้เป็นไปตามใจข้าพเจ้า แต่ให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์เถิด” (มธ 26:36-39)

“การต่อสู้และชัยชนะนั้นเป็นไปได้อาศัยการภาวนาเท่านั้น การที่พระเยซูเจ้าทรงชนะการทดลองและในการต่อสู้ครั้งสุดท้ายตอนที่ทรงเข้าตรีทูต ก็โดยอาศัยการภาวนาของพระองค์” (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 2849)


2. พระเยซูเจ้าทรงถูกเฆี่ยน

“ปีลาตสั่งให้นำพระเยซูเจ้าไปเฆี่ยน บรรดาทหารนำหนามมาสานเป็นมงกุฎสวมพระเศียร ให้พระองค์ทรงเสื้อคลุมสีแดง ทหารเข้ามาหาพระองค์ และพูดว่า “กษัตริย์ของชาวยิว ขอทรงพระเจริญ” แล้วตบพระพักตร์พระองค์” (ยน 19:1-3)

“การรับทรมานของพระเยซูเจ้าในเชิงประวัติศาสตร์ ที่เป็นรูปธรรมจากความจริงที่ว่าพระองค์จะถูกบรรดาผู้อาวุโส มหาสมณะ และธรรมาจารย์ ปฏิเสธไม่ยอมรับ” (มก 8:31) ซึ่ง “จะถูกมอบให้คนต่างชาติสบประมาณ เยาะเย้ย โบยตี และนำไปตรึงกางเขน” (มธ 20:19) (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 572)


3. พระเยซูเจ้าทรงถูกสวมมงกุฎหนาม

บรรดาทหารของผู้ว่าราชการนำพระเยซูเจ้าเข้าไปในจวน และเรียกทหารทั้งกองมาพร้อมกัน เขาเปลื้องฉลองพระองค์ออก นำเสื้อคลุมสีม่วงแดงมาคลุมให้ นำหนามมาสานเป็นมงกุฎสวมพระเศียร ให้พระองค์ถือไม้อ้อในพระหัตถ์ขวา แล้วคุกเข่าลงเฉพาะพระพักตร์ เยาะเย้ยพระองค์ว่า “ข้าแต่กษัตริย์ของชาวยิว ขอทรงพระเจริญเทอญ” (มธ 27:27-29)

“ทรงรักเขาจนถึงที่สุด” (ยน 13:1) นี้เองที่ทรงประทานให้การถวายบูชาของพระคริสตเจ้า มีคุณค่าในการไถ่กู้ การชดเชยบาป และการชดใช้บาป พระองค์ทรงรู้จัก และรักเราทุกคนในการถวายชีวิตของพระองค์” (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 616)


4. พระเยซูเจ้าทรงแบกไม้กางเขน

“ชายคนหนึ่งชื่อ ซีโมน ชาวไซรีน เป็นบิดาของอเล็กซานเดอร์และรูฟัส กำลังเดินทางจากชนบทผ่านมาทางนั้น บรรดาทหารจึงเกณฑ์ให้เขาแบกไม้กางเขนของพระองค์ไป ทหารนำพระองค์มาถึงสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งเรียกว่า “กลโกธา” แปลว่า “เนินหัวกระโหลก” (มก 15:21-22)

“ด้วยการยอมรับไว้ในเจตจำนงแบบมนุษย์ของพระองค์ ให้ทุกสิ่งเป็นไปตามน้ำพระ-ทัยของพระบิดา พระองค์จึงทรงยอมรับความตายของพระองค์ในฐานะเป็นค่าไถ่บาป เพื่อ “แบกบาปของเราไว้ในพระวรกายบนไม้กางเขน” (1ปต 2:24) (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 612)


5. พระเยซูเจ้าทรงถูกตรึงบนไม้กางเขน

เมื่อมาถึงสถานที่ที่เรียกว่าเนินหัวกระโหลก บรรดาทหารตรึงพระองค์ที่นั่นพร้อมกับผู้ร้ายสองคน คนหนึ่งอยู่ข้างขวาและอีกคนหนึ่งอยู่ข้างซ้าย พระเยซูเจ้าตรัสว่า พระบิดาเจ้าข้า โปรดอภัยความผิดแก่เขาเถิด เพราะเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไร (ลก 23:33-34)
ขณะนั้น เป็นเวลาประมาณเที่ยงวัน ทั่วแผ่นดินมืดไปจนถึงเวลาบ่ายสามโมง เพราะดวงอาทิตย์มืดลง ม่านในพระวิหารฉีกขาดตรงกลาง พระเยซูเจ้าทรงร้องเสียงดังว่า พระบิดาเจ้าข้า ข้าพเจ้ามอบจิตของข้าพเจ้าไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์ เมื่อตรัสดังนี้แล้ว ก็สิ้นพระชนม์ (ลก 23:33-34, 44-46)
“พระคริสตเจ้าได้สิ้นพระชนม์เพราะบาปของเรา ตามที่มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์”
(1คร 15:3) (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 619)

ตอนที่ 4 พระธรรมล้ำลึกพระสิริรุ่งโรจน์ (สวดวันพุธ และวันอาทิตย์)
ข้อรำพึงเกี่ยวกับการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า

1. พระเยซูเจ้ากลับคืนพระชนมชีพ

ตั้งแต่เช้าตรู่วันต้นสัปดาห์บรรดาสตรีนำเครื่องหอมที่เตรียมไว้มาที่พระคูหา เขาพบว่าก้อนหินถูกกลิ้งออกไปจากพระคูหาแล้ว เมื่อเข้าไปในพระคูหาก็ไม่พบพระศพของพระเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้า ขณะที่บรรดาสตรีประหลาดใจกับเหตุการณ์นี้ บุรุษสองคนสวมเสื้อที่เป็นประกายรุ่งโรจน์ยืนอยู่ใกล้ๆ สตรีเหล่านั้นตกใจกลัวและก้มหน้าลงมองพื้นดิน แต่บุรุษทั้งสองคนพูดว่า ทำไมท่านมองหาผู้เป็นในหมู่ผู้ตายเล่า พระองค์มิได้ประทับอยู่ที่นี่ พระองค์ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว (ลก 24:1-5)

“ถ้าพระคริสตเจ้ามิได้ทรงกลับคืนพระชนมชีพการเทศน์สอนของเราก็ไร้ประโยชน์ และความเชื่อของท่านก็ไร้ประโยชน์” (1คร 15:14) การกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าเป็นการยืนยันถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่พระองค์ได้ทรงกระทำ และได้ทรงสั่งสอน” (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 651)


2. พระเยซูเจ้าเสด็จสู่สวรรค์

“เมื่อพระเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสดังนี้แล้ว พระเจ้าทรงรับพระองค์ขึ้นสู่สวรรค์ให้ประทับ ณ เบื้องขวา” (มก 16:19)

“ขั้นตอนสุดท้ายที่ยังคงเชื่อมต่ออย่างใกล้ชิดกับขั้นตอนแรกคือ การที่พระคริสตเจ้าเสด็จจากสวรรค์มารับสภาพมนุษย์ พระองค์เดียวเท่านั้นที่ “มาจากพระบิดา” สามารถกลับไปหาพระบิดา คือพระเยซูคริสตเจ้า” (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 661)


3. พระจิตเสด็จมา

เมื่อวันเปนเตกอสเตมาถึง บรรดาศิษย์ทุกคนมาชุมนุมในสถานที่เดียวกัน ทันใดนั้นมีเสียงจากฟ้าเหมือนเสียงลมพัดแรงกล้า ทุกคนที่อยู่ในบ้านได้ยิน เขาเห็นเปลวไฟลักษณะเหมือนลิ้น แยกไปอยู่เหนือศีรษะของเขาแต่ละคน ทุกคนได้รับพระจิตเจ้าเต็มเปี่ยม และเริ่มพูดภาษาอื่น ๆ ตามที่พระจิตเจ้าประทานให้พูด (กจ 2:1-4)

“พระจิตเจ้า คือพระนามเฉพาะขององค์พระผู้ซึ่งเราสักการบูชา และถวายพระสิริรุ่ง-โรจน์ร่วมกับพระบิดาและพระบุตร พระศาสนจักรได้รับพระจิตเจ้ามาจากองค์พระผู้เป็น-เจ้า และประกาศยืนยันในการที่โปรดศีลล้างบาปให้แก่ลูกๆ คนใหม่ของพระศาสนจักร”
(คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 691)


4. พระนางมารีย์ได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์

“ตั้งแต่นี้ไปชนทุกสมัยจะกล่าวว่าข้าพเจ้าเป็นสุข พระผู้ทรงสรรพานุภาพทรงกระทำกิจการยิ่งใหญ่สำหรับข้าพเจ้า” (ลก 1:48-49)

“พระนางพรหมจารีมารีย์ เมื่อจบครรลองชีวิตของพระนางบนแผ่นดินแล้ว ก็ได้รับการยกทั้งกายและวิญญาณขึ้นสู่สิริรุ่งโรจน์แห่งสวรรค์ ซึ่ง ณ ที่นั้น พระนางได้มีส่วนในพระสิริรุ่งโรจน์แห่งการกลับคืนพระชนมชีพของพระบุตรแล้ว ระหว่างรอคอยการกลับคืนชีพของสมาชิกทั้งหมดแห่งพระกายของพระองค์” (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 974)


5. พระนางมารีย์ได้รับมงกุฎในสวรรค์

“เครื่องหมายยิ่งใหญ่ปรากฏในสวรรค์ คือสตรีผู้หนึ่ง มีดวงอาทิตย์เป็นอาภรณ์ มีดวงจันทร์อยู่ใต้เท้า มีมงกุฎดาวสิบสองดวงประดับศีรษะ” (วว 12:1)

“ในที่สุด พระนางพรหมจารีนิรมล ผู้ได้รับการอารักขาไว้โดยพระเจ้าให้พ้นจากโทษบาปกำเนิด และเมื่อได้ดำเนินชีวิตอยู่บนแผ่นดินจนครบบริบูรณ์แล้ว ก็ได้รับการยกขึ้นสู่สิริรุ่งโรจน์แห่งสวรรค์ ทั้งกายและวิญญาณ และได้รับการเชิดชูจากองค์พระผู้เป็นเจ้า ให้เป็นราชินีแห่งจักรวาล เพื่อให้สอดคล้องเหมาะสมอย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้นกับพระบุตรของพระนาง ผู้เป็นเจ้าแห่งเจ้านายทั้งหลาย ผู้พิชิตบาปและความตาย” (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 966)

ตัวอย่างการสวดสายประคำ

ขอบคุณข้อมูลจาก

ลิ้งค์อื่นๆ ที่น่าสนใจ

ป้ายกำกับ
Bangkok (9) Haco (4) HR (2) Inventory and supply chain Manage (2) Manager (3) Marketing (2) ST. TERESA INTERNATIONAL UNIVERSITY (8) กรุงเทพมหานคร (19) การขับผี (7) การศึกษา (4) ขับผี (7) ข่าวสาร (2) คลิปสัมภาษณ์ (2) จตุจักร (2) ฉลองวัด (3) ตารางมิสซา (2) นครนายก (8) นครปฐม (2) น้องฮับเยี่ยมวัด (2) บทภาวนา (2) บริษัท (2) บริษัทจำกัด (12) บริษัทมหาชน (2) ประกาศ (2) ปีศาจ (10) พนม (3) พระคริสต์ (18) พระนางมารีย์ (6) พระวาจา (19) พระสังฆราช (2) พระเจ้า (26) พิธีบูชาขอบพระคุณ (2) มหาวิทยาลัย (8) มหาวิทยาลัยนานาชาติเซนต์เทเรซา (8) วัดคาทอลิก (5) วัดแม่พระองค์อุปถัมภ์ (4) ศาสนภัณฑ์ (2) สกลนคร (2) สังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี (4) สุราษฎร์ธานี (4) อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่ (2) เครื่องประดับ (2) แม่พระ (4) โรงแรมและรีสอร์ท (2) ไบเบิล (19)